ประเพณีผีตาโขน
เป็นงานประเพณีเล็ก ๆ ที่เล่นกันอยู่ในขอบเขตอำเภอเล็ก ๆ คืออำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่ด้วยรูปแบบและเนื้อหาของงานที่เป็นเรื่องผี ๆ แต่เป็นผีน่ารักน่าสนุกจึงน่าสนใจยิ่งสำหรับมนุษย์ งานเล็กจากอำเภอเล็ก ๆ งานนี้ สุดท้ายจึงก้าวออกไปเป็นงานประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของภูมิภาคอีสาน และกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติ ทุกปีจะมีชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเดินทางไปเที่ยวชมงานผี ๆ งานนี้กันปีละไม่ใช่น้อย
งานประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นการรวมงานสำคัญของท้องถิ่นสามงานเข้าด้วยกันคือ งานบุญผะเหวด หรือบุญพระเวส อันเป็นงานฉลองการฟังเทศน์มหาชาติ งานแห่ผีตาโขน และงานบุญบั้งไฟ เข้าด้วยกัน
รูปแบบประเพณี
งานประเพณีแห่ผีตาโขน ผูกพันแนบแน่นกับองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคือ องค์พระธาตุศรีสองรักษ์ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยพระมหาจักรพรรดิฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุด เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงมิตรภาพระหว่างกัน
วงจรของประเพณีผีตาโขน เริ่มต้นขึ้นโดยบุคคลศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสองคนคือ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ที่มีฐานะเป็นดังผู้วิเศษหมอผี และครูใหญ่ของเมืองที่มีหน้าที่หลักในการดูแลองค์พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุคู่เมืองด่านซ้ายโดยเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นวงจรของประเพณีนี้เริ่มต้นจากพิธีบายศรีที่บ้านของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมในภาคเช้า และระหว่างที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่นั่นเอง เด็ก ๆ ในทุกบ้านเรืองของเมืองด่านซ้ายก็จะช่วยกันจัดหาเศษผ้ามาเย็บเป็นเสื้อผ้าของผีตาโขน หาอุปกรณ์คือหวดนึ่งข้าวเหนียวและแกนก้านมะพร้าวมาทำหน้ากากผีตาโขนด้วยการวาดลวดลายเพิ่มสีสันเป็นผีตาโขนที่หน้าตาโหดร้ายน่ากลัว หา "หมากกะแหล่ง" หรือกระดึงผูกคอวัวควายมาทำเป็นเครื่องประดับ และที่สำคัญที่สุดที่ผีตาโขนหลายตัวประณีตบรรจงประดิดประดอยเป็นที่สุดก็คือ อาวุธของผีตาโขนเป็นดาบใหญ่ ทำด้วยไม้มีทีเด็ดของดาบอยู่ที่ปลายด้ามดาบที่ทำเป็นรูปปลัดขิกอันโต ทายอดกลม ๆ เป็นสีแดงแจ๋ เอาไว้ไล่จิ้มสาว ๆ ในเมือง โดยเฉพาะในภาคบ่ายจะเป็นพิธีการในฝ่ายราชการ เป็นการแห่ผีตาโขน โดยจัดรูปขบวนแห่ อันประกอบด้วยผีตาโขนใหญ่ ที่ทำเป็นหุ่นใหญ่คล้ายหัวโตของภาคกลาง และผีตาโขนเล็ก เป็นเด็ก ๆ ผู้ชายในเมืองเกือบทั้งหมด ภาคค่ำเป็นการชุมนุมกันฟังเทศน์มหาชาติของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ใหญ่ในเมือง
ที่มาของผีตาโขน
เป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม เพื่อบวงสรวงบูชาติดต่อกับผู้ชมดูการละเล่น คือ วิญญาณผีบรรพชน ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ไท-ลาว เชื่อถือร่วมกันว่าบรรพชน คือ ต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ผู้ที่สร้างบ้านแปงเมือง บรรพชนเมื่อตายเป็นผี จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเกรงขาม มีอำนาจที่จะดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะแก่บ้านเมืองได้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมือง เมื่อถึงงานบุญประเพณีสำคัญ ๆ ตามฮีตประเพณี จึงจะต้องทำการละเล่นเต้นฟ้อนผีตาโขนเพื่อเซ่นสรวงบูชาให้เป็นที่ ถูกอกถูกใจแก่ผีบรรพชน การละเล่นผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ และผ่านการ สืบทอดทางพิธีกรรมเป็นสายยาวจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นส่วนหนึ่งในงานบุญหลวงของอำเภอด่านซ้าย หรือเมืองด่านซ้ายในอดีต นับเป็นการละเล่นที่นำพาให้เกิดความสนุกสนานและความบันเทิงเป็นหลัก เช่นกันกับการเล่นทอดแห ขายยา และทั่งบั้ง อันเป็นสีสันแห่งการเฉลิมฉลองในงานบุญหลวงและโดยเฉพาะในพิธีอันเชิญพระเวสสันดร และนางมัทรีเข้าเมือง ตามฮีตเดือนสี่ (บุญเผวส) ของชาวอีสาน
ซึ่งชาวด่านซ้าย ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่(บุญเผวส) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ทั้งนี้เจ้าพ่อกวน (ผู้นำทางจิตวิญญาณของท้องถิ่น)จะเป็นผู้กำหนดวันโดยผ่านพิธีการเข้าทรงล่วงหน้า คำว่า ผีตาโขน ตามความเห็นของเจ้ากวน (ถาวร เชื้อบุญมี) น่าจะมาจากการที่บรรดาผีเหล่านั้น สวมหน้ากากคล้ายลักษณะของโขนละคร แต่เดิมบางคนเรียกว่าผีตาขน แต่ก็หาความหมายไม่ได้ชัดแจ้ง และจากคำบอกเล่าของเจ้าพ่อกวนในขณะเข้าทรงว่า ผีตามคนมาในงานบุญพระเวส จึงเรียกผีตามคนต่อมาจึงเพี้ยนเป็นผีตาโขน จากการศึกษาวิจัยเรื่องพัฒนาการประเพณีผีตาโขน ของ สนอง อุปลาพบว่าประเพณีผีตาโขนเป็นการละเล่นที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณของผีบรรพชน สืบสานมาจากการละเล่นปู่เยอ ย่าเยอของชาวหลวงพระบาง แต่เนื่องจากการละเล่น ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย ต้องผ่านพ้นกับกาลเวลาอันยาวนาน และฟันฝ่ากับระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับคนหลากหลายกลุ่มชน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในชุมชน จึงมีการปรับเปลี่ยนผสมผสานให้เป็นการละเล่นที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ความสำคัญ
การละเล่นผีตาโขนมีมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด
แต่ชาวบ้านได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ
เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย แสดงในงาน "บุญหลวง"
ซึ่งเป็นการรวมเอาบุญผะเหวดและบุญบั้งไฟเป็นบุญเดียวกัน
เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง
และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าในอดีต
พิธีกรรม
มีการจัดทำพิธี ๒ วัน คือ วันแรก (วันโฮม)
ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด
เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาอยู่ที่วัด
ในวันที่สองเป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง
โดยสมมุติให้วัดเป็นเมือง สำหรับวันที่สองของงานนี้
ชาวบ้านยังได้นำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อเป็นพิธีขอฝนโดยแห่รอบวัด ๓ รอบ
ในขณะที่แห่อยู่นั้นเหล่าผีตาโขนทั้งหลายก็จะละเล่นหยอกล้อผู้คนไปเรื่อย ๆ
เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน
หลังจากเสร็จพิธีการแห่แล้วบรรดาผู้ละเล่นผีตาโขนจะนำเครื่องเล่นผีตาโขน
และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปล่องลงแม่น้ำหมัน และในตอนค่ำของวันเดียวกัน
จะมีการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์
ชนิดของผีตาโขน
ผีตาโขน
ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ
2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น
เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2
ตัว คือผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น
ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ
การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน
ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี
ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก
ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย
มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน
แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่
เครื่องแต่งกายของผีตาโขน ส่วนใหญ่มักประกอบด้วย
สาระ
การละเล่นผีตาโขนนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับผู้พบเห็น
มีการนำเอาก้านทางมะพร้าวที่แห้ง นำมาตกแต่งเป็นหน้ากาก โดยการเจาะช่องตา จมูก ปาก
และใบหู นำเอาหวดนึ่งข้าว โดยกดดันหวดให้เป็นรอยบุ๋มหงายปากหวดขึ้น เพื่อสวมศีรษะแต่งแต้มสีสันให้น่าดู
ส่วนชุดที่สวมใส่ทำมาจากเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกัน อุปกรณ์ในการละเล่นมี ๒ ชิ้น
คือ "หมากกระแหล่ง" มีไว้เพื่อเขย่าทำให้เกิดเสียงดังในเวลาเดิน และ
"อาวุธประจำกาย" ผีตาโขนส่วนมากจะใช้ผู้ชายแสดงเนื่องจากต้องกระโดดโลดเต้นไปเรื่อย
ๆ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ผู้หญิงเป็นตัวแสดง นอกจากเข้าร่วมในงาน "บุญหลวง"
ยังได้เข้าร่วมขบวนแห่ในวันเปิดงานกาชาดดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย
โดยขบวนผีตาโขนจะเดินรอบเมืองเพื่อโชว์ให้แขกบ้านแขกเมืองได้เห็น
ที่มา